ยินดีต้อนรับเข้าสู่ Blogger ครูมอนสอนสังคม แหล่งรวมความรู้ตามหลักสูตรกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม รวมถึงเทคโนโลยีการมอนในรูปแบต่างๆ

เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ (ภาพถ่ายทางอากาศ)


รูปถ่ายทางอากาศ
       
รูปถ่ายทางอากาศ  คือ  รูปที่ได้จากการถ่ายทางอากาศ  โดยผ่านเลนส์กล้องและฟิล์ม  หรือข้อมูลเชิงเลข  ซึ่งถ่ายด้วยกล้องที่นำไปในอากาศยาน  อันได้แก่  บัลลูน  เครื่องบิน  เป็นต้น  ในสมัยปัจจุบันมีการถ่ายรูปทางอากาศจากยานอวกาศได้ด้วย  ปกติการถ่ายรูปทางอากาศจะถ่ายจากเครื่องบินที่มีการวางแผนการบิน  และกำหนดมาตราส่วนของแผนที่มาแล้วเป็นอย่างดี  กล้องถ่ายรูปทางอากาศคล้ายกับกล้องถ่ายรูปทั่วไปในอดีตแต่มีขนาดใหญ่กว่า  เลนส์ยาวกว่า  และใช้ฟิล์มขนาดใหญ่  ซึ่งปกติจะมีขนาดประมาณ  24 x  24  เซนติเมตร  รูปถ่ายทางอากาศจะให้ข้อมูลที่ค่อนข้างละเอียด  นอกจากนี้  รูปถ่ายทางอากาศมีการถ่ายรูปซ้อนทับพื้นที่บนรูปที่ต่อเนื่องกัน  จึงสามารถดูเป็นภาพสามมิติ  หรือทรวดทรงของผิวโลกได้  ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในด้านภูมิศาสตร์
ภาพถ่ายแนวดิ่ง
1) ประเภทของรูปถ่ายทางอากาศ  รูปถ่ายทางอากาศ  มี  2  ประเภทใหญ่ๆ  ตามลักษณะการถ่ายรูปดังนี้
1.1)  รูปถ่ายทางอากาศแนวดิ่ง  เป็นรูปถ่ายทางอากาศที่ถ่ายรูปในแนวตั้งฉากกับผิวโลกและไม่เห็นแนวขอบฟ้า
1.2) รูปถ่ายทางอากาศแนวเฉียง  เป็นรูปถ่ายที่เกิดจากการกำหนดแกนของกล้องในลักษณะเฉียง  แบ่งออกเป็น  2  ชนิด  คือ
1)  รูปถ่ายทางอากาศแนวเฉียงสูง  ลักษณะรูปถ่ายจะเห็นแนวขอบฟ้าเป็นแนวกว้างใหญ่
2)  รูปถ่ายทางอากาศแนวเฉียงต่ำ  เป็นรูปถ่ายทางอากาศที่ไม่ปรากฏเส้นขอบฟ้าในภาพรูปถ่ายทางอากาศแนวเฉียงสูงและแนวเฉียงต่ำใช้แสดงภาพรวมของพื้นที่แต่มีมาตราส่วนบนรูปถ่ายทางอากาศแตกต่างกัน  รูปถ่ายทางอากาศแนวดิ่งมีมาตราส่วนในรูปค่อนข้างคงที่  จึงเป็นที่นิยมนำมาใช้ทำแผนที่
2) หลักการแปลความหมายจากรูปถ่ายทางอากาศ  มีหลักการ  ดังนี้
         2.1)  ความแตกต่างของความเข้มของสี  วัตถุต่างชนิดกันจะมีการสะท้อนคลื่นแสงต่างกัน  เช่น  ดินแห้งที่ไม่มีต้นไม้ปกคลุมจะสะท้อนคลื่นแสงมาก  จึงมีสีขาว  น้ำดูดซับเคลื่อนแสงมากจะสะท้อนคลื่นแสงน้อย  จึงมีสีดำ  บ่อน้ำตื้นหรือมีตะกอนมากจะสะท้อนคลื่นแสงได้ดีกว่าบ่อน้ำลึกหรือเป็นน้ำใส  ป่าไม้หนาทึบจะสะท้อนคลื่นแสงน้อยกว่าป่าไม้ถูกทำลาย  ดังนั้น  ป่าไม้แน่นทึบจึงมีสีเข้มกว่าป่าถูกทำลาย  เป็นต้น
         2.2)  ขนาดและรูปร่าง  เช่น  สนามฟุตบอลรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่  เป็นต้น
         2.3)  เนื้อภาพและรูปแบบ  เช่น  ป่าไม้ธรรมชาติจะมีเรือนยอดเป็นจุดเล็กบ้างใหญ่บ้างมีระดับสูงต่ำ  และไม่เรียงเป็นระเบียบ  ส่วนป่าปลูกจะมีเรือนยอดสูงใกล้เคียงกันละเรียงเป็นระเบียบ  เป็นต้น
           2.4)  ความสูงและเงา  ในกรณีที่วัตถุมีความสูง  เช่น  ต้นไม้สูง  ตึกสูง  เป็นต้น  เมื่อถ่ายรูปทางอากาศในระดับไม่สูงมาก  และเป็นช่วงเวลาเช้า  หรือเวลาบ่ายจะมีเงา  ทำให้ช่วยในการแปลความหมายได้ดี
            2.5)  ตำแหน่งและความสัมพันธ์  เช่น  เรือในแม่น้ำ  เรือในทะเล  รถยนต์บนถนน  ต่างแสดงตำแหน่งความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน  เป็นต้น
                2.6)  ข้อมูลประกอบ  เช่น  ใช้แผนที่การใช้ที่ดิน  แผนที่ป่าไม้ประกอบการแปลความหมายด้านการใช้ที่ดินและป่าไม้  เป็นต้น
              2.7)  การตรวจสอบข้อมูล  ผู้แปลจะต้องมีความรู้ที่จะนำองค์ประกอบมาผสมผสานกัน  การตรวจสอบข้อมูลภาคสนามจะช่วยให้การแปลความหมายถูกต้องแม่นยำ  แต่รูปถ่ายทางอากาศที่ถ่ายในช่วงปีที่แตกต่างกันจะช่วยทำให้เห็นลักษณะการใช้ที่ดินที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  ทั้งโดยกิจกรรมของมนุษย์และตามสภาพธรรมชาติ
             3)  ประโยชน์ของรูปถ่ายทางอากาศ  มีดังนี้
                         1.  การสำรวจและทำแผนที่ภูมิประเทศ
                         2.  การใช้ในกิจการทหารและความมั่นคงของประเทศ
                         3.  การสำรวจและติดตามการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
                         4.  การสำรวจและติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่การใช้ที่ดิน
                         5.  การวางผังเมืองและการสำรวจแหล่งโบราณคดี
                         6.  การสำรวจและการติดตามด้านยุทธศาสตร์และความมั่นคงของชาติ