ยินดีต้อนรับเข้าสู่ Blogger ครูมอนสอนสังคม แหล่งรวมความรู้ตามหลักสูตรกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม รวมถึงเทคโนโลยีการมอนในรูปแบต่างๆ

เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ (ภาพจากดาวเทียม)


 ภาพจากดาวเทียม
     
     
ดาวเทียม  คือ  วัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นเลียนแบบดาวบริวารของดาวเคราะห์  เพื่อให้โคจรรอบโลกมีอุปกรณ์สำหรับเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอวกาศและถ่ายทอดข้อมูลนั้นมายังโลก  ดาวเทียมที่โคจรรอบโลกใช้เป็นอุปกรณ์โทรคมนาคมด้วย  เช่น  ถ่ายทอดคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ข้ามทวีป  หรือใช้ในการบันทึกทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นบนแผ่นดินและผืนน้ำ
     ข้อมูลจากดาวเทียม  เป็นสัญญาณตัวเลขที่ได้รับ  ณ  สถานีรับสัญญาณดาวเทียมภาคพื้นดินในประเทศไทยมีสถานีรับสัญญาณดาวเทียมสำรวจทรัพยากร  ตั้งอยู่ที่อำเภอศรีราชา  จังหวัดชลบุรี  และที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร  และมีสถานีรับสัญญาณของกรมอุตุนิยมวิทยากระจายตามภูมิภาคของประเทศ  เมื่อสถานีรับสัญญาณภาคพื้นดินได้รับข้อมูลตัวเลขที่ส่งมาแล้ว  จึงแปลงตัวเลขออกเป็นภาพอีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งเรียกว่าภาพจากดาวเทียม  ที่นำไปแปลความหมายต่อไปได้ในระบบคอมพิวเตอร์สามารถนำข้อมูลตัวเลขมาวิเคราะห์เชิงสถิติเพื่อจัดกลุ่มข้อมูลใหม่  ซึ่งเป็นการแปลความหมายอีกรูปแบบหนึ่งได้
1) ชนิดของดาวเทียม  แบ่งออกได้ดังนี้
   
ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา
1.1)  ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา  เป็นดาวเทียมที่บันทึกข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยาดาวเทียมบางดวงจะโคจรรอบโลกในอัตราเร็วเท่ากับการหมุนของโลกและอยู่ในแนวตะวันออกตะวันตกเสมอ  เช่น  ดาวเทียม  GMS  ดาวเทียม  GOES  เป็นต้น  ซึ่งจะมีการบันทึกข้อมูลภูมิอากาศเกือบตลอดเวลา  จึงเป็นประโยชน์มากในการพยากรณ์อากาศและการเตือนภัย
ดาวเทียมสมุทรศาสตร์

1.2)  ดาวเทียมสมุทรศาสตร์  เป็นดาวเทียมที่บันทึกข้อมูลสมุทรศาสตร์  เช่น  ดาวเทียม SEASAT  จะบันทึกข้อมูลด้านสมุทรศาสตร์  และดาวเทียม  MOS  (Marine  Observation  Satellite)  นอกจากจะใช้ในการสำรวจด้านสมุทรศาสตร์แล้ว  ยังนำมาใช้ในการสำรวจด้านสมุทรศาสตร์แล้ว  ยังนำมาใช้ในการสำรวจบนแผ่นดินแต่ไม่เป็นที่นิยมมากนัก  เป็นต้น
1.3)  ดาวเทียมสำรวจแผ่นดิน  เป็นดาวเทียมที่บันทึกข้อมูลของผิวโลก  จึงมีการนำมาใช้ประโยชน์มากมาย  เช่น  ดาวเทียมธีออส  THEOS  ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทย  ส่วนดาวเทียม  LANDSAT  ของสหรัฐอเมริกา  ดาวเทียม  SPOT  ของประเทศฝรั่งเศส  ดาวเทียม  ERS  ของกลุ่มประเทศยุโรป  ดาวเทียม  RANDARSAT  ของประเทศแคนาดา  เป็นต้น
1.4) ดาวเทียมสื่อสาร  เป็นดาวเทียมเพื่อการติดต่อสื่อสารและโทรคมนาคม  เช่น  การรับส่งสัญญาณโทรศัพท์  โทรสาร  ข่าวสาร  ภาพโทรทัศน์  รายการวิทยุ  ข้อมูลข่าวสาร  คอมพิวเตอร์  เป็นต้น  ดาวเทียมสื่อสารเป็นดาวเทียมค้างฟ้าที่อยู่คงที่บนฟ้าของประเทศใดประเทศหนึ่งตลอดเวลา  โดยหลายประเทศจะมีดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศของตนเอง  เช่น  ประเทศไทยมีดาวเทียมไทยคม  ประเทศญี่ปุ่นมีดาวเทียมซากุระ  ประเทศฝรั่งเศสมีดาวเทียมยูริสหรัฐอเมริกามีดาวเทียมเวสดาร์  แคนาดามีดาวเทียมแอนิค  เป็นต้น
1.5)   ดาวเทียมเพื่อกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก  เป็นดาวเทียมที่ใช้ในการสำรวจหาตำแหน่งของวัตถุบนพื้นโลก  ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน  เช่น  เป็นเครื่องมือนำร่องยานพาหนะต่างๆ  จากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง  การกำหนดตำแหน่งเพื่อวางแผนก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค  การหาตำแหน่งของสถานที่ที่ต้องการเดินทางไปโดยใช้ระยะทางที่สั้นที่สุด  เป็นต้น
1.6) ดาวเทียมเพื่อกิจการทหาร  เป็นดาวเทียมที่ใช้ในภารกิจของทหาร  การถ่ายภาพจากกรรมความลับของข้าศึก  การศึกษาแนวพรมแดน  การกำหนดเป้าโจมตีทางทหาร  ดาวเทียมทหารมักจะเป็นความลับของทุกประเทศ  และดาวเทียมทั่วไปก็อาจมีการติดตั้งอุปกรณ์พิเศษเสริมเพื่อใช้งานทางทหาร  เช่น  การใช้ดาวเทียมสื่อสารในการติดต่อระหว่างกองทัพกับฐานทัพ  การใช้ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาในการสำรวจอากาศที่เหมาะสมสำหรับการปฏิบัติการทางทหารต่างๆ  เป็นต้น
2)  การแปลความหมายภาพจากดาวเทียม  สามารถทำได้  ดังนี้
2.1)  ในกรณีที่พิมพ์ข้อมูลเป็นภาพพิมพ์  อาจจะเป็นภาพขาว – ดำ  หรือภาพสี  จะแปลความหมายโดยใช้วิธีเดียวกับการแปลความหมายจากรูปถ่ายทางอากาศ
2.2) ในกรณีที่เป็นข้อมูลตัวเลข  ข้อมูลตัวเลขที่ได้จากดาวเทียมจะถูกแปลงเป็นภาพอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีโปรแกรมเฉพาะในการแปลความหมาย  อาจจะให้เครื่องคอมพิวเตอร์และโปรแกรมช่วยจัดกลุ่มข้อมูลตามหลักสถิติ  แล้วจึงกำหนดกลุ่มข้อมูลตามวัตถุประสงค์ต่อไป
3) ประโยชน์ของข้อมูลจากจานดาวเทียม  ข้อมูลจากดาวเทียมมีประโยชน์  ดังนี้
3.1)  ด้านการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม  หลังจากที่ได้มีการศึกษาและวางแผนอย่างมีระบบ  และได้มีการดำเนินงานในพื้นที่แล้ว  เช่น  พื้นที่ที่ควรคืนสภาพป่า  พื้นที่ที่อนุญาตให้ตัดไม้  จำเป็นต้องมีวิธีการจัดการอย่างต่อเนื่อง  เช่น  การเข้าไปสังเกตการณ์  การตรวจวัดหรือตรวจสอบ  แต่ถ้าพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่  การติดตามตรวจสอบทำได้ยากและมีค่าใช้จ่ายสูง  จึงมีการนำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้
                         ตัวอย่างเช่น  จากการสำรวจพบว่าในปี  พ.ศ.  2516  ไทยมีพื้นที่ป่าไม้ร้อยละ  43.21  ของพื้นที่ประเทศ  แต่ในปี  พ.ศ.  2536  ลดลงเหลือเพียงร้อยละ  26.02  ของพื้นที่ประเทศ  จากข้อมูลนี้จึงทำให้มีการรณรงค์เพื่อรักษาพื้นที่ป่าไม้ให้มากขึ้น  เป็นต้น  นอกจากนี้ข้อมูลจากดาวเทียมยังใช้ในการศึกษาติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้  โดยเฉพาะป่าต้นน้ำลำธาร  สำรวจพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์และป่าเสื่อมโทรมทั่วประเทศ  ศึกษาไฟป่า  หาพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการปลูกสร้างสวนป่าแทนบริเวณที่ถูกบุกรุก
3.2)  ด้านการทำแผนที่  ข้อมูลจากดาวเทียมสามารถนำมาสร้างเป็นแผนที่เฉพาะเรื่อง  เช่น  แผนที่ธรณีวิทยา  แผนที่ดิน  เป็นต้น  ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงช้า  และข้อมูลบางชนิดที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว  เช่น  การเคลื่อนย้ายของสัตว์ป่า  การใช้ที่ดิน  เป็นต้น  สำหรับในประเทศไทยยังมีการใช้ประโยชน์ข้อมูลจากดาวเทียมค่อนข้างจำกัด  สำหรับการจัดทำแผนที่เฉพาะเรื่อง  บทบาทสำคัญของข้อมูลดาวเทียมจึงใช้ในการปรับปรุงแผนที่เดิมที่มีอยู่แล้ว  เช่น  การปรับปรุงแผนที่ภูมิประเทศ  การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน  เป็นต้น  ข้อมูลส่วนใหญ่ได้จากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรที่สำคัญ  เช่น  ดาวเทียม  LANDSAT  ดาวเทียม  SPOT  และ  MOS-1  เป็นต้น
3.3)  ด้านอุตุนิยมวิทยา  ข้อมูลจากดาวเทียมสามารถนำมาใช้ในการติดตามลักษณะอากาศในช่วงเวลาตลอด  24  ชั่วโมง  ทำให้การพยากรณ์อากาศมีความถูกต้องแม่นยำและทันเหตุการณ์
           ข้อมูลจากดาวเทียมมีประโยชน์อย่างยิ่งในการป้องกันและเตือนภัยพิบัติ  ลดความสูญเสียที่เกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง  เช่น  การเกิดฝนฟ้าคะนอง  การเคลื่อนตัวของพายุ  การเกิดน้ำท่วม  เป็นต้น  ทำให้สามารถวางแผนการช่วยเหลือและฟื้นฟูได้อย่างเหมาะสม
         ในปัจจุบันดาวเทียมมีบทบาทมากขึ้นในหลายด้าน  ทั้งด้านเศรษฐกิจ  ด้านความบันเทิง  ด้านการติดต่อสื่อสาร  ด้านธรณีวิทยา  ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา  หรือแม้แต่ด้านโทรคมนาคม  และดาวเทียมก็ยังถูกพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง  จนก้าวไปสู่ระบบอุตสาหกรรมดาวเทียม